- ประมาณ 50% ของผู้ป่วยโรคเรื้อรังไม่ได้ทานยาตามที่แพทย์สั่ง
- จากจำนวนผู้ป่วยที่ต้องเข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาลด้วยประเด็นที่เกี่ยวกับยา ประมาณ 40-70% มีสาเหตุมาจากผู้ป่วยไม่ให้ความร่วมมือในการใช้ยา
- เมื่อแพทย์สั่งจ่ายเพิ่มขึ้นอีก 1 มื้อ เช่น จากวันละ 1 ครั้งเป็นวันละ 2 ครั้ง ความร่วมมือในการใช้ยาของผู้ป่วยจะลดลง 10% โดยประมาณ
โดยทั่วไปงานวิจัยต่าง ๆ มักมุ่งเน้นที่การคิดค้นและพัฒนายาให้มีความปลอดภัยและประสิทธิภาพในการรักษาโรค จนบางครั้งเราอาจหลงลืมไปว่าการที่จะเกิดผลลัพธ์ในการรักษาที่ดีได้นั้นไม่ใช่แค่เพราะประสิทธิภาพของยาแต่เพียงอย่างเดียว องค์ประกอบสำคัญที่ขาดไม่ได้คือความร่วมมือในการใช้ยาจากผู้ป่วยเองด้วย กล่าวอีกนัยหนึ่งคือความร่วมมือในการใช้ยาเป็นปัจจัยที่สำคัญที่สุดอีกปัจจัยหนึ่งในกระบวนการรักษาผู้ป่วย
สาเหตุที่ผู้ป่วยไม่ให้ความร่วมมือในการใช้ยา
พฤติกรรมการให้ความร่วมมือในการใช้ยานับเป็นเรื่องปัจเจกและมีความซับซ้อน ซึ่งทำให้จำเป็นต้องใช้หลายวิธีร่วมกันในการแก้ไขปัญหา สิ่งที่ต้องตระหนักคือการที่ผู้ป่วยไม่ให้ความร่วมมือในการใช้ยาอาจไม่ได้เกิดจากผู้ป่วยเองเพียงฝ่ายเดียว แต่อาจเกี่ยวข้องกับบุคลากรทางแพทย์ด้วย การช่วยให้ผู้ป่วยมีความร่วมมือการใช้ยามากขึ้นจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องเข้าใจสาเหตุและปัจจัยของปัญหาก่อน ซึ่งสามารถแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มหลัก ๆ ได้ดังนี้
1. ปัจจัยจากผู้ป่วยเอง
- ขาดความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับโรค
- ไม่มีความรู้ด้านการแพทย์ (medical literacy) มากเพียงพอ
- ขาดแรงจูงใจในการรักษา
- ไม่ได้มีส่วนร่วมในการตัดสินใจที่เกี่ยวกับการรักษา
- การใช้ยาหลายชนิดร่วมกัน
- ความซับซ้อนของวิธีการใช้ยาแต่ละชนิด
- เกิดอาการไม่พึงประสงค์จากยา
- ความเชื่อและทัศนคติของผู้ป่วยที่มีต่อวิธีการรักษา ซึ่งอาจมาจากประสบการณ์ที่เคยเกิดขึ้นกับตนเองและคนรอบข้าง
- ความเชื่อทางศาสนาและวัฒนธรรม
- ความสะดวกในการเดินทางมารักษาตัวที่สถานพยาบาล
- ไม่เข้าใจข้อมูลเกี่ยวกับวิธีการรักษา เช่น วิธีการใช้ยา เหตุผลที่ต้องใช้ยา ผลลัพธ์และอาการไม่พึงประสงค์ที่อาจเกิดขึ้น เป็นต้น
- ขาดการสนับสนุนหรือช่วยเหลือจากครอบครัวหรือผู้ใกล้ชิด
- ภาวะสุขภาพจิตไม่ดี เช่น มีภาวะซึมเศร้า วิตกกังวล ความเครียด
- ภาวะความจำถดถอยหรือความจำบกพร่อง
- ดื่มแอลกอฮอล์และ/หรือใช้สารเสพติด
- สวัสดิการด้านสุขภาพ
- ค่าใช้จ่ายในการรักษาและฐานะทางการเงิน
2. ปัจจัยจากแพทย์ผู้รักษา
- ไม่ได้อธิบายให้ผู้ป่วยเข้าใจถึงตัวโรค ภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นได้
- เมื่อสั่งจ่ายยาแพทย์อาจหลงลืมที่จะอธิบายให้ผู้ป่วยได้เข้าใจเกี่ยวกับประโยชน์ รวมถึงอาการไม่พึงประสงค์ที่อาจเกิดจากยาให้ผู้ป่วยได้เข้าใจ
- ขาดการสื่อสารที่เพียงพอเกี่ยวกับความสำคัญของการให้ความร่วมมือในการใช้ยา
- การสั่งยาที่ไม่คำนึงถึงภาระค่าใช้จ่ายหรือสวัสดิการด้านสุขภาพของผู้ป่วย
วิธีที่จะช่วยให้ผู้ป่วยให้ความร่วมมือในการใช้ยามากขึ้น
การซักประวัติ สิ่งที่ท้าทายที่สุดคือจะทำอย่างไรให้รู้ได้ว่าผู้ป่วยไม่ให้ความร่วมมือในการใช้ยา อีกทั้งการถามคำถามเพื่อประเมินความร่วมมือในการใช้ยาของผู้ป่วยเป็นประเด็นที่อ่อนไหว บางคำถามอาจทำให้ผู้ป่วยรู้สึกไม่สบายใจหรือถูกกล่าวโทษ ดังนั้นสิ่งสำคัญที่สุดคือการถามโดยไม่ให้ผู้ป่วยรู้สึกว่ากำลังถูกตัดสิน ตัวอย่างคำถามในการซักประวัติ เช่น
“หมอเข้าใจดีนะว่ามันเป็นเรื่องที่ยากมากกับการที่ต้องกินยาครบทุกตัวตามที่หมอสั่งในทุก ๆ วัน มียาตัวไหนที่คุณเคยลืมทานบ้างหรือไม่”
“คุณเคยหยุดทานยาเพราะมีสาเหตุอะไรบางอย่างหรือไม่”
“หลังจากทานยาที่หมอสั่งให้ มีอาการข้างเคียงใดเกิดขึ้นกับคุณบ้างหรือไม่”
“ครั้งล่าสุดที่คุณเพิ่งทานยาตัวนี้คือเมื่อใด” (ถามกับยาทีละตัว)
การให้ความรู้แก่ผู้ป่วย (patient education) โดยการพูดคุยกับผู้ป่วยในลักษณะตัวต่อตัว หากเป็นไปได้ควรทำโดยทีมสหวิชาชีพและใช้หลายเทคนิคผสมผสานเข้าด้วยกัน โดยนอกจากจะเน้นให้ผู้ป่วยมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับโรคและอาการที่เกี่ยวข้องแล้ว ยังต้องให้ความสำคัญกับการให้คำแนะนำในการดูแลตัวเองด้วย ในบางกรณีแพทย์อาจมีส่วนร่วมในการให้ความรู้แก่ผู้ป่วยในทางอ้อมได้ด้วยการแนะนำช่องทางการค้นคว้าข้อมูลเกี่ยวกับสุขภาพที่น่าเชื่อถือ ไม่ว่าจะเป็นหนังสือคู่มือต่าง ๆ websites ตลอดจนกิจกรรมทางชุมชนและสังคม เป็นต้น
การเสริมสร้างพลังให้แก่ผู้ป่วย (empowerment) ประกอบด้วยการส่งเสริมให้ผู้ป่วยมีส่วนร่วมในการตัดสินใจในขั้นตอนต่าง ๆ เช่น ในกรณีที่มีการรักษาทางเลือกอื่น ๆ ควรแจ้งให้ผู้ป่วยทราบและหารือร่วมกันก่อนตัดสินใจ กระตุ้นให้ผู้ป่วยถามคำถาม เปิดโอกาสให้ผู้ป่วยได้แสดงความคิดเห็น ซึ่งอาจทำได้ง่าย ๆ โดยการถามผู้ป่วยเกี่ยวกับเวลาที่สะดวกทานยา ในบางกรณีการซักถามความคาดหวังหรือเป้าหมายของผู้ป่วยอาจช่วยให้แพทย์วางแผนการรักษาได้ง่ายขึ้น
การประเมินความรู้ด้านการแพทย์ (medical literacy) ของผู้ป่วย การประเมินความรู้ของผู้ป่วยเป็นสิ่งที่ท้าทายเนื่องจากผู้ป่วยอาจอายหรือไม่สบายใจที่จะเปิดเผยว่าตนเองไม่รู้และไม่เข้าใจ ซึ่งอาจจะเป็นเพียงเรื่องเล็กน้อย เช่น ปัญหาในการอ่านฉลากยาจึงทำให้ไม่เข้าใจว่าต้องทานยาอย่างไร ปัญหาเหล่านี้อาจแก้ไขได้โดยการใช้การสื่อสารด้วยรูปภาพหรือรูปแบบของการฟังแทนการเขียนให้อ่าน
การประเมินภาวะทางสุขภาพจิต เช่น ความเครียด ความวิตกกังวล และความกลัว เป็นต้น การแก้ไขปัญหาทางจิตใจของผู้ป่วยมีส่วนสำคัญเป็นอย่างยิ่งในการเพิ่มความร่วมมือในการใช้ยาอย่างยั่งยืนและเพื่อให้ผลลัพธ์การรักษาที่เป็นที่น่าพึงพอใจ
การสร้างความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างแพทย์และผู้ป่วย ถือเป็นหัวใจสำคัญที่ทำให้การสื่อสารประสบความสำเร็จ อาจเริ่มต้นได้ง่าย ๆ จากการรับฟังผู้ป่วย แพทย์ควรแสดงให้เห็นถึงการให้เกียรติและเคารพความเชื่อส่วนบุคคล ความเชื่อที่เกี่ยวข้องกับศาสนาและวัฒนธรรม พร้อมให้ความสำคัญกับประเด็นเหล่านั้นในการวางแผนการรักษาด้วย กล่าวชมเมื่อผู้ป่วยบรรลุเป้าหมายการรักษา และไม่ต่อว่าหรือโทษว่าเป็นความผิดของผู้ป่วยที่ผลการรักษาไม่เป็นตามคาดด้วยการสร้างบรรยากาศที่ปราศจากการตำหนิหรือกล่าวโทษ (blame-free environment) จะช่วยให้ผู้ป่วยไว้ใจและซื่อสัตย์ที่จะอธิบายความจริงต่อบุคลากรทางการแพทย์มากขึ้น
การค้นหาอาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา อาการไม่พึงประสงค์จากยาเป็นสาเหตุที่สำคัญประการหนึ่งที่ทำให้ผู้ป่วยไม่ยอมทานยา ซึ่งหมายรวมถึงอาการที่เกิดขึ้นกับผู้ป่วยจริง ๆ และอาการที่เกิดจากความกลัวและความกังวลของผู้ป่วยเอง ดังนั้นการซักถามหรือการตรวจประเมินเพื่อระบุอาการไม่พึงประสงค์ให้ได้จึงเป็นสิ่งจำเป็นที่ต้องทำอย่างต่อเนื่องในการนัดหมายทุก ๆ ครั้ง
การให้กำลังใจและการสนับสนุนผู้ป่วย เมื่อผู้ป่วยรู้สึกถึงการได้รับการสนับสนุนช่วยเหลือจะทำให้มีกำลังใจในการรักษามากขึ้น การใช้การสัมภาษณ์เพื่อเสริมสร้างแรงจูงใจ (motivational interviewing) ซึ่งเป็นการให้คำแนะนำปรึกษารูปแบบหนึ่งที่มีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยผู้ป่วยค้นหาแรงบันดาลใจในการทานยา ตลอดจนการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่อบรรลุเป้าหมายการรักษาอาจเป็นอีกวิธีหนึ่งที่ควรนำมาประยุกต์ใช้ในกรณีนี้
หลีกเลี่ยงการสั่งจ่ายยาหลายตัวในครั้งเดียวกันหากเป็นไปได้ เนื่องจากอาจมีผลบั่นทอนกำลังใจของผู้ป่วยและง่ายต่อการทำให้ผู้ป่วยรู้สึกสับสนในข้อมูลเกี่ยวกับยาแต่ละชนิด อย่างไรก็ดีหากไม่อาจหลีกเลี่ยงได้แพทย์ควรบอกเหตุผลให้ผู้ป่วยเข้าใจและตระหนักถึงความสำคัญและความจำเป็นของการรักษาด้วยยาหลายชนิดร่วมกัน
สรุป
ปัญหาคนไข้ไม่ยอมทานยาเป็นปัญหาที่พบได้บ่อยในเวชปฏิบัติซึ่งส่งผลต่อผลลัพธ์การรักษา สิ่งสำคัญที่บุคลากรทางการแพทย์ต้องตระหนักคือการที่ผู้ป่วยไม่ให้ความร่วมมือในการใช้ยาตามที่แพทย์สั่งนั้นเป็นความรับผิดชอบของทั้งตัวผู้ป่วยเอง รวมถึงบุคลากรทางการแพทย์ที่ให้การรักษาด้วย การแก้ปัญหาที่ยั่งยืนควรเกิดจากความเข้าใจสาเหตุและปัจจัยอย่างแท้จริง
เอกสารอ้างอิง
- Brown MT, Bussell JK. Medication adherence: WHO cares? Mayo Clin Proc. 2011;86(4):304-14.
- Aremu TO, Oluwole OE, Adeyinka KO, Schommer JC. Medication Adherence and Compliance: Recipe for Improving Patient Outcomes. Pharmacy (Basel). 2022;10(5):106.
- Neiman AB, Ruppar T, Ho M, Garber L, Weidle PJ, Hong Y, George MG, Thorpe PG. CDC Grand Rounds: Improving medication adherence for chronic disease management – Innovations and opportunities. Am J Transplant. 2018;18(2):514-7.