Sudoku (ซูโดกุ) คือ เกมแก้ปริศนาตัวเลขที่ให้ทั้งความสนุกสนานและยังช่วยกระตุ้นสมองของผู้เล่นได้อีกด้วย แม้ชื่อจะเป็นภาษาญี่ปุ่นแต่เกมนี้ก็ได้รับความนิยมไปทั่วโลกมาเป็นเวลานานแล้ว สำหรับคนไทยอาจรู้จักเกม Sudoku ในอีกชื่อว่า “เกมปริศนา 1 ถึง 9” ซึ่งก็มีที่มาจากหน้าตาของตาราง Sudoku และวิธีการเล่นนั่นเอง
ตาราง Sudoku เป็นตารางสี่เหลี่ยมขนาด 9×9 ที่ภายในแบ่งเป็น 9 ช่องใหญ่ ๆ ในแต่ละช่องใหญ่จะถูกแบ่งเป็นอีก 9 ช่องย่อย ตัวเลขคำใบ้บางส่วนจะถูกใส่ไว้ในตารางอยู่แล้ว ผู้เล่นต้องเติมตัวเลข 1-9 ลงในช่องว่างที่เหลือภายใต้กติกาที่ว่า “ต้องไม่ให้มีตัวเลขซ้ำกันทั้งในแถวแนวนอน แถวแนวตั้ง และในช่องตารางย่อย”
บทความนี้ขอเสนอ case report ที่น่าสนใจที่ได้ตีพิมพ์ในวารสารทางการแพทย์ JAMA Neurology โดยเป็นเรื่องราวของชายคนหนึ่งซึ่งเล่นเกม Sudoku อยู่แล้วเป็นประจำในยามว่างและไม่เคยมีอาการผิดปกติใด ๆ มาก่อน แต่วันหนึ่งเขากลับมีอาการชักขณะกำลังเล่น Sudoku ที่น่าสนใจอีกประการหนึ่งคืออาการชักหยุดลงได้เมื่อหยุดเล่นเกม
คุณหมอพอจะนึกออกหรือไม่คะว่าการเล่นเกม Sudoku จะทำให้เกิดอาการชักได้อย่างไร? และน่าจะมีปัจจัยใดบ้างที่เป็นสาเหตุหรือกระตุ้นให้เกิดเหตุการณ์นี้?
Case report: Sudoku-induced seizure
ชายผู้รอดชีวิตจากหิมะถล่ม
ชายอายุ 25 ปีประสบอุบัติเหตุหิมะถล่มขณะที่กำลังเล่นสกี กองหิมะทับร่างที่หมดสติของเขาก่อนที่ทีมกู้ภัยจะเข้าช่วยเหลือและนำตัวส่งโรงพยาบาล นอกจากสภาพภายนอกที่เกิดจากการสัมผัสความเย็นจัดและถูกหิมะกัดแล้วการตรวจร่างกายยังพบว่าผู้ป่วยกระดูกสะโพกหักและม้ามฉีกร่วมด้วย ผู้ป่วยเริ่มมีอาการกล้ามเนื้อกระตุก (myoclonic jerks) ที่ปากขณะพูดและที่ขาขณะเดิน
นายแพทย์ Berend Feddersen แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านประสาทวิทยาจาก the University of Munich ประเทศเยอรมนีได้ให้คำอธิบายถึงความผิดปกตินี้ว่าเกิดจากภาวะที่สมองขาดออกซิเจน (hypoxia) ขณะที่ชายคนนี้ติดอยู่ใต้หิมะสมองของเขาน่าจะไม่มีออกซิเจนไปเลี้ยงนานถึง 15 นาที
เมื่อวันหนึ่งการเล่นเกม Sudoku ทำให้เกิดอาการชัก
2-3 สัปดาห์หลังจากนั้นอาการของผู้ป่วยเริ่มดีขึ้น เขาถูกย้ายไปรักษาตัวอีกแผนกหนึ่งเพื่อทำกายภาพบำบัดฟื้นฟู การเล่นเกม Sudoku เป็นอีกกิจกรรมหนึ่งที่เขากลับมาลองทำอีกครั้ง แต่มันกลับทำให้เขาชักแบบ clonic seizures แขนข้างซ้ายของเขากระตุกและชักเกร็งในแบบที่เขาไม่สามารถควบคุมมันได้ แต่โชคดีที่อาการต่าง ๆ หยุดลงทันทีเมื่อเขาวางมือจากเกม Sudoku การตรวจวินิจฉัยด้วย CT scan พบ hyperperfusion ที่ posterior cingulate gyrus ผลจาก MRI ยังชี้ให้เห็นว่า inhibitory U fibers ที่สมองซีกขวาส่วน centroparietal region นั้นหายไป ซึ่งสอดคล้องกับผลจากการตรวจด้วย somatosensory evoked potentials test ที่พบว่า amplitude ของ left median nerve หลังถูกกระตุ้นนั้นสูงกว่า right median nerve ถึง 3 เท่า
มาถึงตรงนี้แล้วคุณหมอพอจะรู้คำตอบแล้วใช่หรือไม่คะว่า Sudoku ทำให้ชายผู้รอดชีวิตคนนี้ชักได้อย่างไร
ไขปริศนาสาเหตุของ Sudoku-induced seizure
เนื่องจากสมองขาดออกซิเจนไปในช่วงระยะเวลาหนึ่งจึงทำให้ inhibitory fibers ในสมองซีกขวาตาย จึงเป็นที่มาว่าเพราะเหตุใดจึงเกิดการตอบสนองของร่างกายในซีกซ้ายที่มากผิดปกติหลังจากถูกกระตุ้นนั่นเอง
อย่างไรก็ดีคำถามสำคัญที่สุดที่ลืมไม่ได้นั่นคือเกม Sudoku เกี่ยวข้องกับความผิดปกตินี้อย่างไร นายแพทย์ Feddersen กล่าวว่าขณะที่ผู้ป่วยรายนี้กำลังไขปริศนาเพื่อแก้เกม Sudoku อยู่นั้น เขาจินตนาการภาพเป็นแบบ 3 มิติ ซึ่งไปกระตุ้นสมองส่วนที่เกิดความเสียหาย เมื่อสมองส่วนนั้นมีจำนวนของ inhibitory fibers ที่น้อยลงจึงไม่มีตัวยับยั้งให้การตอบสนองอยู่ในระดับที่เหมาะสมได้ จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนี้จึงทำให้ผู้ป่วยรายนี้ไม่ได้กลับไปเล่น Sudoku อีกเลยหลังจากนั้น แพทย์ผู้รักษาพบเขาอีกครั้งหลังจากออกจากโรงพยาบาลประมาณ 5 ปี พบว่าผู้ป่วยไม่เกิด clonic seizures อีกแล้ว
เอกสารอ้างอิง
- Feddersen B, Vollmar C, Rémi J, Stephan T, Flanagin VL, Noachtar S. Seizures From Solving Sudoku Puzzles. JAMA Neurol. 2015;72(12):1524–1526. doi:10.1001/jamaneurol.2015.2828
- ที่มา..วิธีการเล่นเกม SUDOKU และคุณประโยชน์ในการเกมนี้ที่ทุกคนต้องรู้ [Cited 9 Sepl 23] Available at https://news.trueid.net/detail/GWJambjbkVar