Baby Shark – Pinkfong (2015)
PPAP (Pen Pineapple Apple Pen) – Pikotaro (2017)
Moves Like Jagger – Maroon 5 (2010)
Can’t Get You Out of My Head – Kylie Minogue (2001)
นอกจากเพลงเหล่านี้แล้ว ยังมีเพลงไหนอีกบ้างคะที่เคยติดอยู่ในหัวของคุณจนยากที่จะสลัดมันออกไป เพลงไหนบ้างที่เนื้อร้องและทำนองเพลงเคยวนอยู่ในหัวคุณซ้ำไปซ้ำมา? ภาวะที่ท่อนเพลงสั้น ๆ หลอนอยู่ในหูนี้เรียกว่า “Earworm”
Highlight
- แทบทุกคนเคยมีประสบการณ์ Earworm ซึ่งมักเกิดขึ้นไม่นานเพลงเหล่านั้นก็จะหายไปเอง โดยไม่มีอันตรายใด ๆ
- ในบางราย Earworm อาจรบกวนการดำเนินชีวิตประจำวันและคุณภาพชีวิต
- แต่ในบางกรณี Earworm อาจเป็นสัญญาณอันตรายที่บ่งบอกถึงความผิดปกติบางอย่างของร่างกายได้ ถ้าเช่นนั้นจะรู้ได้อย่างไรว่าต้องให้การรักษา? บทความนี้มีคำตอบให้คุณ
10 ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับ Earworm
- Earworm มีอีกหลายชื่อเรียก ได้แก่ stuck song syndrome, musical imagery repetition หรือ involuntary musical imagery เป็นภาวะที่มีเพลงติดอยู่ในหัวทั้งที่อาจไม่ได้ตั้งใจนึกถึง
- เพลงที่มักทำให้เกิด Earworm ไม่จำเป็นต้องเป็นเพลงที่ฟังหรือร้องบ่อย ๆ แต่มักเป็นเพลงที่มีจังหวะเร็วจึงกระตุ้นสมองให้จดจำได้ดี มีเนื้อร้องและทำนองที่เข้าใจง่าย จำง่าย และวนไปมาซ้ำ ๆ โดยการศึกษาพบว่าเนื้อเพลงมีบทบาทสำคัญที่จะช่วยให้เพลง ๆ นั้นติดหูมากกว่าทำนอง
- Earworm พบได้บ่อยมาก งานวิจัยแบบ survey study เผยว่าเกือบ 100% ของผู้ที่ทำแบบสอบถามเคยเจอกับภาวะดังกล่าว นอกจากนี้ประมาณ 20% ยังรายงานว่าเกิด Earworm มากกว่าวันละ 1 ครั้ง
- โดยส่วนใหญ่แล้ว Earworm มักจะเกิดขึ้นครั้งละประมาณ 15 – 30 นาที ในบางรายอาจนานถึง 1 – 2 ชั่วโมงได้ แต่อย่างไรก็ดีจะไม่นานกว่า 24 ชั่วโมงในกรณีปกติ
- ผู้ที่มีโอกาสเกิด Earworm ได้นานกว่าคนทั่วไปหรือยากที่สลัดเพลงเหล่านั้นออกจากหัวได้ ได้แก่ ผู้หญิง นักดนตรีหรือผู้ที่ทำงานเกี่ยวข้องกับเพลง ผู้ที่มีความจำดี และผู้ที่ขาดความยืดหยุ่นทางจิตใจ (psychological inflexibility)
- Earworm เป็นเพียงอาการที่ก่อให้เกิดความหงุดหงิดและรำคาญใจเท่านั้น ไม่ใช่โรคหรืออาการเจ็บป่วย กลไกการเกิด Earworm ยังไม่แน่ชัด แต่สันนิษฐานว่าน่าจะเกี่ยวกับกระบวนการเกิดความจำในสมอง (memory consolidation) นักวิชาการบางคนจึงเชื่อว่า Earworm คือภาวะที่บ่งบอกถึงสมองที่มีสุขภาพดีที่สามารถจดจำข้อมูลได้
- ผลตรวจ MRI สมองในผู้ที่มีประสบการณ์ Earworm เผยให้เห็นว่าความถี่ของการเกิด Earworm สัมพันธ์กับความหนาของสมองในบริเวณ right frontal, temporal cortices, anterior cingulate และ left angular gyrus
- สิ่งที่น่าสนใจคือ การยิ่งพยายามห้ามตัวเองไม่ให้นึกถึงหรือยิ่งพยายามที่จะเอาเพลงเหล่านั้นออกจากหัวมากเท่าไหร่ กลับยิ่งทำให้ต้องทนอยู่กับ Earworm นานยิ่งขึ้น
- วิธีการแก้ Earworm ในกรณีทั่วไปสามารถทำได้โดยไม่ต้องใช้ยา หลักการง่าย ๆ คือในเมื่อหยุดคิดถึงเพลงท่อนนั้นไม่ได้ ก็ให้หาสิ่งอื่นทำเพื่อเบี่ยงเบนความสนใจแทน เช่น การทำกิจกรรมอื่น ๆ ที่ช่วยกระตุ้นสมองให้ทำงานมากขึ้นหรือการให้สมองได้จดจ่อกับเรื่องอื่น ๆ แทน ไม่ว่าจะเป็นการพูดคุยกับผู้อื่น การอ่านหนังสือ หรือการเล่นเกมไขปริศนา เป็นต้น
- Earworm ที่พบในบางรายอาจเป็นสัญญาณของอาการผิดปกติทางจิตหรือระบบประสาทและสมองบางอย่าง ซึ่งจำเป็นต้องได้รับการรักษาได้ด้วย cognitive behavioral therapy (CBT) หรือการใช้ยาต่อไป
จะรู้ได้อย่างไรว่า Earworm ไม่ใช่เรื่องปกติอีกต่อไป?
- เกิดขึ้นนานกว่า 24 ชั่วโมง
- เกิดบ่อยขึ้นหรือนานขึ้นเมื่อรู้สึกเครียดหรือกังวล
- กระทบต่อการดำเนินชีวิตประจำวันและคุณภาพชีวิต เช่น ไม่มีสมาธิจดจ่อกับการทำงาน นอนไม่หลับหรือหลับยากกว่าปกติ เป็นต้น
- มีอาการผิดปกติอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น
- เครียด วิตกกังวล ซึมเศร้า
- สับสน
- นอนไม่หลับ
- เบื่ออาหาร
- แขนหรือขาสั่น (tremors)
- การพูดสะดุดหยุดเป็นพักๆ (speech arrest)
- สูญเสียการมองเห็นหรือการมองเห็นบกพร่อง
- หมดสติ
เมื่อผู้ป่วยมีอาการ Earworm ควรนึกถึงโรคอะไรบ้าง?
- Obsessive-compulsive disorder (OCD)
- Stress
- Depression
- Anxiety
- Seizure
- Musical hallucinations
- Palinacousis
- Migraine with aura
- Schizophrenia
- Drug toxicity
- Brain damage
สรุป
แม้ว่า Earworm จะพบได้โดยทั่วไปและอาจไม่ได้มีผลกระทบใด ๆ มากนักนอกจากการก่อให้เกิดความรำคาญใจ แต่ Earworm ที่เกิดขึ้นในลักษณะที่ไม่ปกติอาจบ่งชี้ถึงอาการทางระบบประสาทและสมองบางอย่างได้ จึงเป็นสิ่งสำคัญที่ต้องทราบว่าเมื่อใดต้องค้นหาสาเหตุและให้การรักษาต่อไป
เอกสารอ้างอิง
- Beaman CP, Williams TI. Earworms (stuck song syndrome): towards a natural history of intrusive thoughts. Br J Psychol. 2010 Nov;101(Pt 4):637-53.
- Reuman L, Buchholz J, Abramowitz J. Stuck in my head: Musical obsessions and experiential avoidance. Bull Menninger Clin. 2020 Oct;84(Supplement A):48-62.
- Farrugia N, Jakubowski K, Cusack R, Stewart L. Tunes stuck in your brain: The frequency and affective evaluation of involuntary musical imagery correlate with cortical structure. Conscious Cogn. 2015 Sep;35:66-77.
- Yoshimura R, Okamoto N, Konishi Y, Ikenouchi A. Major depression with musical obsession treated with vortioxetine: a case report. Ann Gen Psychiatry. 2021 Mar 9;20(1):19.
- Golden EC, Josephs KA. Minds on replay: musical hallucinations and their relationship to neurological disease. Brain. 2015 Dec;138(Pt 12):3793-802.