- คำว่า “Gaslighting” ซึ่งเป็น word of the year ในปี 2022 ได้กลายมาเป็นคำฮิตที่ถูกพูดถึงมากที่สุดในสื่อโซเชียลในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา
- Gaslighting หมายถึง การที่ฝ่ายหนึ่งจัดฉากปั่นหัวให้อีกฝ่ายรู้สึกสับสนและสงสัยในการรับรู้หรือความรู้สึกนึกคิดของตัวเอง บางกรณีอาจทำให้รู้สึกผิดจนเกิดการตำหนิตัวเอง จนนำไปสู่การสูญเสียความมั่นใจในตัวเองและถูกควบคุมได้โดยง่ายในที่สุด
- ที่มาของคำนี้มาจากภาพยนตร์เรื่อง Gas Light ในปี 1940 ซึ่งเป็นเรื่องราวของสามีที่วางแผนเพื่อให้ภรรยาคิดว่าตัวเธอเป็นบ้า เพื่อที่สุดท้ายแล้วเธอจะกลายเป็นผู้ป่วยจิตเวชและสมบัติต่าง ๆ จะตกเป็นของเขา วิธีการที่สามีทำคือการหรี่แสงไฟในตะเกียง (gas light) ให้มืดลง แต่เมื่อภรรยาสังเกตถึงแสงไฟที่มืดผิดปกตินี้ ฝ่ายสามีกลับบอกเธอว่าเธอนั้นคิดไปเอง เขาจัดฉากเช่นนี้ซ้ำ ๆ และพร่ำบอกว่าทั้งหมดที่เธอเห็นนั้นเป็นสิ่งที่เธอคิดไปเองทั้งสิ้น จนภรรยาสับสนในภาวะสุขภาพจิตของเธอขึ้นมาจริง ๆ
- Gaslighting เป็น emotional manipulation หรือ emotional abuse รูปแบบหนึ่ง ปัจจุบันคำนี้ถูกนำมาใช้อย่างแพร่หลายในแง่ของความสัมพันธ์ทั้งในเชิงคู่รัก ครอบครัว เพื่อน และสังคมที่ทำงาน
- ในวงการแพทย์เองก็มี Gaslighting เช่นกัน ซึ่งเป็นความสัมพันธ์ระหว่างแพทย์กับคนไข้ หรือที่เรียกว่า “Medical Gaslighting”
- Medical gaslighting อาจนำไปสู่การประเมินสถานการณ์ที่ต่ำกว่าความเป็นจริง การละเลยขั้นตอนที่พึงกระทำ รวมถึงการวินิจฉัยที่ผิดพลาดได้ เนื่องจากแพทย์เชื่อว่าคำบอกเล่าเกี่ยวกับอาการจากผู้ป่วยอาจเป็นสิ่งที่พวกเขาคิดมากหรือวิตกกังวลไปเอง กล่าวอีกนัยหนึ่งคือแพทย์คิดว่าสิ่งที่เกิดขึ้นนั้นอาจเป็นเพราะความผิดปกติทางจิตใจมากกว่าที่จะเกิดจากความผิดปกติทางร่างกาย
- นอกจากนี้ medical gaslighting อาจนำไปสู่การกล่าวโทษผู้ป่วยและผู้ดูแลผู้ป่วยได้ เช่น ความเชื่อที่ว่าผู้ป่วยไม่ให้ความร่วมมือในการรักษาที่ดีพอ ญาติดูแลตามใจผู้ป่วยใกล้ชิดเกินไปจนผู้ป่วยไม่สามารถทำกิจกรรมต่าง ๆ ด้วยตนเองได้ เป็นต้น
- อีกปัจจัยหนึ่งซึ่งอาจเป็นแนวคิดที่แฝงตัวอยู่เงียบ ๆ นั่นคือ ในการวินิจฉัยโรคแพทย์มักถูกปลูกฝังให้นึกถึงโรคหรือความผิดปกติที่พบได้บ่อยมากกว่าโรคที่หายาก ดังคำพูดที่ว่า “If you hear hoofbeats, think horses, not zebras.” จึงเป็นไปได้ที่บางสิ่งที่ไม่คุ้นเคยอาจจะถูกมองข้ามไป
- ประกอบกับภาระหน้าที่ของแพทย์ที่ต้องดูแลผู้ป่วยในแต่ละวัน ความเร่งรีบและความกดดันจากภาระงานอาจเป็นปัจจัยร่วมให้เกิดการวินิจฉัยที่คลาดเคลื่อนได้
- โรคหรือความผิดปกติที่พบ medical gaslighting ได้ง่ายมักไม่มีเครื่องมือหรือวิธีการวินิจฉัยที่ชัดเจน นอกจากนี้ยังอาจพบได้ในบางโรคที่มีอาการไม่เฉพาะเจาะจง เช่น อาการปวด Myalgic Encephalomyelitis/Chronic Fatigue Syndrome (ME/CFS) และกลุ่มอาการ long-COVID เป็นต้น
- กลุ่มบุคคลที่เสี่ยงต้องเผชิญกับ medical gaslighting มากที่สุด ได้แก่ ผู้หญิง ผู้สูงอายุ กลุ่มคนผิวสี กลุ่ม LGBTQ+
- ตัวอย่างคำพูดที่เป็นสัญญาณของ medical gaslighting
- มันอาจจะเป็นสิ่งที่คุณคิดไปเอง
- คุณน่าจะวิตกกังวลมากเกินไป
- คุณอายุน้อยเกินไปที่เป็นโรคหรือมีอาการนี้
- ปกติแล้วคนวัยเดียวกันกับคุณไม่เป็นโรคนี้กัน
- สิ่งเดียวที่คุณควรทำในตอนนี้คือกลับไปลดน้ำหนัก
- สถานการณ์ตัวอย่าง ได้แก่
- จากการศึกษาพบว่าเพศชายมีความเสี่ยงในการเกิดโรคหัวใจมากกว่าเพศหญิง ด้วยเหตุนี้จึงมักเกิดการวินิจฉัยที่ผิดพลาดในผู้ป่วยหญิง
- ลูกสาวของผู้ป่วยรายหนึ่งสังเกตว่ามือของแม่ของเธอเคลื่อนไหวอย่างไม่ปกติขณะกำลังทำความสะอาดเคาน์เตอร์ชงกาแฟ แพทย์คนแรกที่เธอไปพบบอกว่าเป็นผลจากอายุของแม่ ที่มากขึ้น ในขณะที่แพทย์คนที่สองแนะนำแค่เพียงให้เธอพาแม่กลับบ้านไปพักผ่อนโดยไม่ได้รับการวินิจฉัยหรือการรักษาใด ๆ หลังจากนั้น 2 ปีต่อมาแม่ของเธอได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคพาร์กินสัน
- ชายคนหนึ่งต้องเผชิญกับอาการแสบร้อนกลางยอดอกตั้งแต่เมื่อเขาอายุ 15 ปี ในตอนนั้นแพทย์บอกกับเขาว่าเขาอายุยังน้อยและยังไม่ใช่กลุ่มเสี่ยงที่จะเป็นกรดไหลย้อนได้ อาการเป็นเช่นนั้นเรื่อยมาจนกระทั่งเขาแต่งงาน ภรรยาของเขาได้แนะนำให้ไปปรึกษากับแพทย์เฉพาะทาง จนในที่สุดผลตรวจชี้ให้เห็นว่าเขาเป็นไส้เลื่อนกระบังลม (hiatal hernia)
แหล่งที่มา
- https://www.merriam-webster.com/wordplay/word-of-the-year-2022
- https://me-pedia.org/wiki/Medical_gaslighting
- https://www.webmd.com/mental-health/news/20230120/medical-gaslighting-what-to-know
- https://theconversation.com/medical-gaslighting-when-conditions-turn-out-not-to-be-all-in-the-mind-209611