Breaking Ground in 2023: 8 งานวิจัยพลิกโฉมใหม่วงการแพทย์

ในปี 2023 นี้มีงานวิจัยทางการแพทย์มากมายที่กำลังจะเข้ามามีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนทิศทางในการดูแลผู้ป่วยในอนาคต เราขอนำเสนองานวิจัยที่น่าสนใจบางส่วนที่ได้ตีพิมพ์ในวารสารทางการแพทย์ในปีที่ผ่านมานี้ มาอัพเดทไปด้วยกันนะคะ

ไม่อ้วนเอาเท่าไหร่? อีกหนึ่งทางเลือกใหม่สำหรับการรักษาโรคอ้วน1

  • ในปีนี้คงมีน้อยคนที่จะไม่รู้จักยา semaglutide และ OASIS 1 trial ซึ่งเป็นการศึกษาแบบ randomized, double-blind, placebo-controlled, phase 3 trial (n=667) ซึ่งตีพิมพ์ในวารสาร The Lancet ในเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา เพื่อประเมินประสิทธิผลและความปลอดภัยของยา semaglutide ในการลดน้ำหนักในผู้ที่มีภาวะน้ำหนักเกินหรือผู้ที่มีโรคอ้วนที่ไม่ได้เป็นโรคเบาหวานชนิดที่ 2
  • Semaglutide เป็นยาลดระดับน้ำตาลในเลือดในกลุ่ม glucagon-like peptide-1 (GLP-1) analogue โดยขนาดยาในรูปแบบรับประทานที่ใช้ในการศึกษานี้เป็นขนาดที่สูงกว่าปกติที่ใช้ในการรักษาโรคเบาหวานชนิดที่ 2 คือ 50 mg/day โดยรับประทานวันละ 1 ครั้งนาน 68 สัปดาห์ร่วมกับการทำ lifestyle intervention
  • ผลการศึกษาชี้ให้เห็นว่า high-dose oral semaglutide ช่วยลดน้ำหนักได้อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติเมื่อเทียบกับ placebo ในสัปดาห์ที่ 68 ส่วนอาการข้างเคียงส่วนใหญ่ที่พบ ได้แก่ อาการในระบบทางเดินอาหาร ซึ่งมีระดับความรุนแรงน้อยถึงปานกลาง
  • ด้วยประสิทธิภาพและความปลอดภัยตลอดจนรูปแบบในการบริหารยา semaglutide อาจเป็นอีกทางเลือกหนึ่งในการรักษาภาวะน้ำหนักเกินและโรคอ้วนในอนาคต
  • ยานี้ยังได้รับความสนใจในวงกว้างอยู่ไม่น้อย เพราะจากการจัดลำดับของ Collins Dictionary “semaglutide” เป็นหนึ่งใน word of the year ในปี 2023 เช่นเดียวกับคำว่า “AI” เลยทีเดียว2

พลิกโฉมการรักษาอัลไซเมอร์ด้วยยาที่มุ่งเป้าจัดการที่สาเหตุของโรค3

  • ข้อจำกัดที่สำคัญประการหนึ่งของแนวทางการรักษาโรคอัลไซเมอร์ที่มีอยู่ในปัจจุบันคือเพื่อช่วยลดหรือชะลออาการของโรคเท่านั้น ทำให้โรคนี้ยังไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้
  • Lecanemab เป็นยารักษาโรคอัลไซเมอร์ในระยะต้น (early alzheimer’s disease) โดยยาเป็น anti-amyloid β antibody จึงถือเป็นการรักษาที่มุ่งไปที่กลไกสำคัญที่ก่อให้เกิดโรค นั่นคือการสะสมของ amyloid β plaque ในสมองของผู้ป่วย
  • CLARITY AD เป็นการศึกษาแบบ randomized, double-blind, placebo-controlled, phase 3 study ในผู้ป่วยอัลไซเมอร์ระยะต้นที่มีภาวะ mild cognitive impairment หรือ mild dementia stage อายุระหว่าง 50-90 ปี (n=1,795) ที่พบการสะสมของ amyloid protein ในสมองจากการตรวจยืนยันด้วย positron-emission tomography (PET) หรือด้วย cerebrospinal fluid testing
  • ผลการศึกษาพบว่าการให้ lecanemab intravenous infusion ในขนาด 10 mg/kg ทุก 2 สัปดาห์ นาน 18 เดือนช่วยลดอาการของโรคได้ โดยกลุ่มที่ได้รับยามีการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่แย่ลงของ Clinical Dementia Rating Sum of Boxes (CDR-SB) score น้อยกว่ากลุ่มที่ได้ยาหลอกอย่างมีนัยสำคัญ อีกทั้ง lecanemab ยังช่วยลดปริมาณการสะสมโปรตีน amyloid β ในสมองของผู้ป่วยได้ด้วย
  • อาการไม่พึงประสงค์ในบริเวณที่ฉีดยา เช่น อาการปวด รวมถึงมีไข้ หนาวสั่น เกิดผื่น หรือปวดตามตัว (infusion-related reaction) เป็นอาการที่มีรายงานมากที่สุด โดยพบประมาณ 1 ใน 4 ของผู้เข้าร่วมวิจัย โดยมีความรุนแรงน้อยถึงปานกลาง

ไม่สูบไม่ไช่ไม่เสี่ยง: AI ช่วยตรวจหามะเร็งปอดในผู้ที่ไม่เคยสูบบุหรี่4

  • โดยปกติแล้วการคัดครองมะเร็งปอดจะทำในผู้ที่สูบบุหรี่หรือเคยสูบอย่างหนักแต่เลิกแล้วเท่านั้น แต่อุบัติการณ์การเกิดมะเร็งปอดในผู้ที่ไม่สูบบุหรี่เพิ่มขึ้นในปัจจุบัน และคนกลุ่มนี้มักได้รับการวินิจฉัยเมื่อโรคดำเนินไปถึงขั้นที่ร้ายแรงแล้ว
  • เพื่อให้คนกลุ่มนี้ได้รับการวินิจฉัยและการรักษาอย่างทันท่วงทีจึงเป็นที่มาของการพัฒนาเครื่องมือปัญญาประดิษฐ์ (artificial inteligence; AI) ที่จะช่วยประเมินความเสี่ยงของการเกิดมะเร็งปอดในผู้ที่ไม่มีประวัติการสูบบุหรี่มาก่อน การศึกษานี้เป็นของทีมวิจัยจาก Cancer Institute of the Research and Innovation Centre (CIRC) ซึ่งได้มีการนำเสนอภายในงาน the annual meeting of the Radiological Society of North America (RSNA) ในช่วงปลายเดือนพฤศจิกายน 2023 ที่ผ่านมานี้เอง
  • AI model นี้มีชื่อว่า “CXR-Lung-Risk” ซึ่งถูกพัฒนาโดยการให้เรียนรู้ภาพถ่าย chest X-rays จำนวน 147,497 ภาพที่มาจากผู้ที่เข้ารับการทำนายความเสี่ยงในการเสียชีวิตด้วยโรคทางปอดจาก Prostate, Lung, Colorectal, and Ovarian (PLCO) cancer screening trial ซึ่งประกอบด้วยคนที่สูบบุหรี่แต่ยังไม่แสดงอาการผิดปกติและคนที่ไม่สูบบุหรี่รวมกันทั้งสิ้น 40,643 คน
  • จะเห็นได้ว่าข้อดีของ AI นี้คือสามารถทำนายความเสี่ยงต่อการเกิดโรคได้ด้วยเพียงการใช้ภาพถ่าย chest X-rays เพียงอย่างเดียว อีกทั้งยังเป็นข้อมูลที่มีอยู่ในระบบเวชระเบียนผู้ป่วย เพราะการทำ chest X-rays เป็นการตรวจประเมินที่ทำโดยทั่วไปในเวชปฏิบัติ
  • โมเดลได้ถูกเทรนด์ให้สามารถประเมินระดับความเสี่ยงของการเกิดมะเร็งปอดในอีก 6 ปีข้างหน้าของแต่ละบุคคลได้ โดยจะแบ่งความเสี่ยงออกเป็น 3 ระดับคือ เสี่ยงต่ำ เสี่ยงปานกลาง และเสี่ยงสูง
  • ในขั้นตอนการตรวจสอบได้ใช้ AI model ประเมินหาความเสี่ยงของผู้ที่ไม่สูบบุหรี่ 17,407 คน พบว่า 28% ของผู้ที่ได้รับการประเมินจัดอยู่ในกลุ่มเสี่ยงสูง โดย 2.9% ในจำนวนนี้ถูกวินิจฉัยว่าเป็นมะเร็งปอดในเวลาถัดมา

ยาพ่นจมูกรักษาอาการปวดศีรษะไมเกรนชนิดแรกได้รับอนุมัติแล้ว5

  • นอกจากยารับประทานแล้ว ก่อนหน้านี้เราได้เคยรู้จักกับยาฉีดซึ่งเป็น monoclonal antibodies เช่น  galcanezumab และ fremanezumab ที่นำมาใช้ในการรักษาไมเกรนกันไปแล้ว ในปีนี้ถึงเวลาของยาอีกรูปแบบหนึ่งคือสเปรย์พ่นจมูก (nasal spray) ที่ประกอบด้วยยา zavegepant เป็นตัวยาสำคัญ
  • Zavegepant คือ calcitonin gene-related peptide (CGRP) receptor antagonist โดยในขณะนี้ยาได้รับอนุมัติจากคณะกรรมการอาหารและยาประเทศสหรัฐอเมริกา (USFDA) เป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยมีข้อบ่งใช้สำหรับการรักษาไมเกรนเฉียบพลัน (acute migraine) ในผู้ใหญ่ทั้ง migraine with และ migraine without aura
  • การศึกษา randomized, double-blind, placebo-controlled, multicenter phase 3 trial (n=1,405) จากวารสาร Lancet Neurology เดือนมีนาคม 2023 ทำขึ้นในผู้ป่วยไมเกรนเฉียบพลันที่มีอาการในระดับปานกลางหรือรุนแรงจำนวน 2-8 ครั้งต่อเดือนที่มีอายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไป เพื่อประเมินประสิทธิภาพและความปลอดภัยของยาพ่นจมูก zavegepant ในขนาด 10 mg เทียบกับยาหลอก
  • ผลการศึกษาพบว่ายา zavegepant ทำให้หายจากอาการปวดศีรษะได้ใน 2 ชั่วโมงหลังจากพ่นยา นอกจากนี้ยังมีประสิทธิภาพในการลดอาการอื่น ๆ ได้แก่ คลื่นไส้ กลัวแสง และกลัวเสียงอีกด้วยเมื่อเทียบกับยาหลอก แต่ยานี้อาจทำให้การรับรสเปลี่ยนไป ซึ่งเป็นอาการข้างเคียงที่พบมากที่สุดในการศึกษานี้ อาการไม่พึงประสงค์อื่น ๆ ที่พบได้แก่ ทำให้รู้สึกระคายเคืองในจมูกและคลื่นไส้

การตรวจเบาหวานแบบใหม่ที่จะทำให้ผู้ป่วยไม่ต้องเจ็บตัวเพราะการเจาะเลือดอีกต่อไป6

  • การตรวจวินิจฉัยโรคเบาหวานและภาวะก่อนเบาหวาน (prediabetes) ด้วยการวัดระดับน้ำตาลในเลือดยังคงเป็นวิธีมาตรฐานที่ได้รับการยอมรับอย่างแพร่หลายในปัจจุบัน เนื่องจากมีความถูกต้องและแม่นยำสูง
  • เมื่อไม่นานมานี้งานวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสาร BML Innovations ได้เปิดเผยถึง Machine-learning-based algorithm ตัวใหม่ที่ชื่อว่า “DiaBeats” ซึ่งได้ถูกพัฒนาขึ้นเพื่อช่วยทำนายความเสี่ยงของการเกิดโรคเบาหวานชนิดที่ 2 และภาวะก่อนเบาหวานจากคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (Electrocardiogram; ECG)
  • ที่มาของแนวความคิดดังกล่าวมาจากผลกระทบของโรคเบาหวานที่มีต่ออวัยวะในระบบต่าง ๆ รวมถึงระบบหัวใจและหลอดเลือด ดังนั้นเมื่อน้ำตาลในเลือดสูงขึ้นจึงส่งผลให้การทำงานของหัวใจเปลี่ยนแปลงไป ซึ่งสามารถประเมินได้จากลักษณะของการเต้นของหัวใจ
  • หลังจากการทดสอบในประชากรจำนวน 1,262 คน และวิเคราะห์การเต้นของหัวใจรวม 10,461 ครั้งพบว่า algorithm นี้มีความถูกต้องและแม่นยำในการทำนายระดับน้ำตาลในเลือดถึง 96.8% และ 97.1% ตามลำดับ
  • ทีมนักวิจัยเห็นว่า DiaBeats จะเป็นเครื่องมือที่ช่วยให้สามารถคัดกรองโรคเบาหวานชนิดที่ 2 และภาวะก่อนเบาหวานได้ตั้งแต่ในระยะต้น ๆ เนื่องจากเครื่องมือสามารถเผยให้เห็นถึงความผิดปกติของหัวใจที่สัมพันธ์กับภาวะน้ำตาลในเลือดสูงได้ตั้งแต่ในระยะที่ยังไม่มีอาการแสดง

ก้าวสู่โฉมใหม่ของการดูแลผู้ป่วยสมองเสื่อมด้วยถุงเท้าอัจฉริยะ7

  • “SmartSocks” คือนวัตกรรมที่นำ sensor และเทคโนโลยี AI มาผนวกไว้กับถุงเท้าที่ค้นคว้าพัฒนาโดย UK DRI Care Research and Technology Centre โดยมีเป้าหมายเพื่อประเมินสภาวะการรับรู้และระดับความเครียดของผู้ป่วยที่มีภาวะสมองเสื่อมที่มีปัญหาด้านการสื่อสารผ่านการติดตามอัตราการเต้นของหัวใจ ระดับเหงื่อ และการเคลื่อนไหวของผู้สวมใส่
  • แนวคิดในการพัฒนาถุงเท้าอัจฉริยะนี้สืบเนื่องมาจากปัญหาจากการใช้ wearable device เช่น สายรัดข้อมือที่มักทำให้ผู้ป่วยกลุ่มดังกล่าวมีความเครียดและปฏิเสธการใช้ ถุงเท้าจึงน่าจะเป็นทางออกที่ดีกว่าเนื่องจากเป็นเครื่องแต่งกายที่ใช้ทั่วไปในชีวิตประจำวันอยู่แล้ว โดย SmartSocks มีลักษณะเหมือนถุงเท้าทั่วไป สามารถซักทำความสะอาดได้ด้วยเครื่องซักผ้า
  • การศึกษานำร่องได้ใช้ SmartSocks เพื่อช่วยให้แพทย์สามารถติดตามการนอนหลับ การเคลื่อนไหวภายในบ้าน และการวัดอุณหภูมิและความดันโลหิตของผู้ป่วยจากระยะไกล
  • ทีมวิจัยหวังว่านวัตกรรมนี้จะเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยสนับสนุนให้ผู้ป่วยสามารถพึ่งพาตนเอง ตลอดจนการทำกิจกรรมทั่วไปภายในบ้านของตนได้ นอกจากนี้ยังมีประโยชน์ในการตรวจพบปัญหาต่าง ๆ  ได้แก่ ความเครียด ความวิตกกังวล การรับรู้ที่เปลี่ยนแปลงไป หรือแม้แต่การพลัดตกหกล้มได้ตั้งแต่เนิ่น ๆ เพื่อลดการเข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาล

ข้อกังวลใจเกี่ยวกับอาการไม่พึงประสงค์เกี่ยวกับหัวใจและหลอดเลือดจาก systemic hormone replacement therapy ลดลงได้ด้วย topical testosterone8

  • แม้ว่า systemic testosterone ได้ถูกนำมาใช้รักษาภาวะ male hypogonadism ซึ่งเป็นภาวะที่ร่างกายผลิตฮอร์โมนเพศชายได้ไม่เพียงพออย่างแพร่หลาย แต่ก็มีข้อกังวลไม่น้อยเกี่ยวกับอาการไม่พึงประสงค์ในระบบหัวใจและหลอดเลือด รวมถึงความเสี่ยงของเกิดมะเร็งต่อมลูกหมากที่เพิ่มขึ้น
  • TRAVERSE study ซึ่งตีพิมพ์ในวารสาร The New England Journal of Medicine เป็นการศึกษาแบบ randomized, double-blind, placebo-controlled multicenter trial ที่ทำขึ้นในผู้ชายที่มีภาวะ hypogonadism และมีระดับ fasting testosterone น้อยกว่า 300 ng/dl จำนวน 5,246 คนที่อายุตั้งแต่ 45-80 ปี เพื่อประเมินความปลอดภัยของ testosterone ในรูปแบบเจลสำหรับทา (transdermal gel) ความเข้มข้น 1.62% โดยประเมินจากผลรวมเหตุการณ์การเกิดโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะและ atrial fibrillation, acute kidney injury และ pulmonary embolism
  • ผลการศึกษาพบว่ากลุ่มผู้ป่วยที่ใช้ testosterone transdermal gel นาน 22 เดือนเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดไม่ต่างจากกลุ่มที่ได้รับยาหลอก นอกจากนี้การเกิดมะเร็งต่อมลูกหมากซึ่งประเมินที่ 33 เดือนไม่ต่างกันอีกด้วย ซึ่งหมายถึงฮอร์โมนทดแทนรูปแบบดังกล่าวไม่ทำให้เกิดความเสี่ยงของโรคหัวใจและหลอดเลือดและมะเร็งต่อมลูกหมากเพิ่มขึ้น
  • อย่างไรก็ดีพบการเกิด pulmonary embolism ที่สูงกว่าในกลุ่มที่ใช้ testosterone transdermal gel เมื่อเทียบกับผู้ป่วยที่ได้ยาหลอก

การรักษา alopecia areata ด้วย JAK inhibitors จะไม่จำกัดแค่เพียงในกลุ่มผู้ใหญ่อีกต่อไปแล้ว9

  • แม้ว่า baricitinib จะเป็นยาในกลุ่ม Janus kinases (JAK) inhibitors ชนิดรับประทานตัวแรกที่ได้รับการอนุมัติให้ใช้ในการรักษา alopecia areata ในระดับรุนแรง แต่ยานี้มีข้อบ่งใช้ในกลุ่มผู้ใหญ่อายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไปเท่านั้น ยังไม่มียาใดในกลุ่มนี้ที่ใช้ในกลุ่มวัยรุ่นมาก่อน
  • Alopecia areata หรือโรคผมร่วงเป็นหย่อมเป็น autoimmune disease ชนิดหนึ่ง โดยเซลล์ในระบบภูมิคุ้มกันที่มีบทบาทสำคัญ ได้แก่ natural killer cells และ CD8+ T cells นำไปสู่การกระตุ้น cytokines ชนิดต่าง ๆ เช่น interferon-γ and interleukin (IL)-15 จนเกิดการทำลาย hair follicle ในผู้ป่วยบางรายอาจทำให้ขนบริเวณอื่น ๆ ตามร่างกายร่วงร่วมด้วย เช่น คิ้วและขนตา
  • การศึกษาแบบ randomized, double-blind, multicentre, phase 2b/3 trial ได้ทำการประเมินประสิทธิภาพและความปลอดภัยของยา ritlecitinib ทั้งในกลุ่มผู้ใหญ่ (อายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไป) และวัยรุ่น (อายุ 12-17 ปี) ที่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็น alopecia areata โดยมีบริเวณผมร่วงมากกว่า 50% นอกจากนี้ยังรวมถึงกลุ่มผู้ป่วยที่เป็น alopecia totalis และ alopecia universalis ด้วย (n=718)
  • ในสัปดาห์ที่ 24 หลังจากรักษาด้วยยา ritlecitinib ซึ่งเป็นยารับประทานวันละครั้งในขนาด 30 mg และ 50 mg พบว่ายาช่วยลดอาการของโรคได้โดยประเมินจาก Severity of Alopecia Tool (SALT) score ≤20 กล่าวคือ มีจำนวนผู้ป่วยในกลุ่มที่ได้รับ ritlecitinib ที่มี SALT score ≤20 มีมากกว่ากลุ่มที่ได้ยาหลอก ผลการศึกษาสอดคล้องกันทั้งในผู้ใหญ่ วัยรุ่น และผู้ป่วยที่เป็นและไม่เป็น alopecia totalis และ alopecia universalis ร่วมด้วย
  • การติดตามด้านความปลอดภัยตั้งแต่แรกจนถึงสัปดาห์ที่ 48 พบอาการไม่พึงประสงค์จากยา ritlecitinib ได้แก่ ปวดศีรษะ, nasopharyngitis, upper respiratory tract infections,  คลื่นไส้ และเป็นสิว ซึ่งมีความรุนแรงในระดับน้อยถึงปานกลางและพบต่ำกว่า 10% ของผู้เข้าร่วมวิจัย
  • Ritlecitinib ซึ่งเป็น JAK3 และ TEC kinase inhibitor ตัวนี้อาจจะเป็นทางเลือกใหม่ในการรักษา alopecia areata ที่มักพบในผู้ที่อายุไม่มาก นอกเหนือจากจากการใช้ steroids ทั้งแบบยาทาและยารับประทานที่ต้องคำนึงถึงอาการข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นจากการใช้ยาในระยะยาว

เอกสารอ้างอิง

  1. Knop FK, Aroda VR, do Vale RD, Holst-Hansen T, Laursen PN, Rosenstock J, Rubino DM, Garvey WT; OASIS 1 Investigators. Oral semaglutide 50 mg taken once per day in adults with overweight or obesity (OASIS 1): a randomised, double-blind, placebo-controlled, phase 3 trial. Lancet. 2023 Aug 26;402(10403):705-719. doi: 10.1016/S0140-6736(23)01185-6. Epub 2023 Jun 26. PMID: 37385278.
  2. https://www.collinsdictionary.com/woty
  3. Van Dyck CH, Swanson CJ, Aisen P, Bateman RJ, Chen C, Gee M, Kanekiyo M, Li D, Reyderman L, Cohen S, Froelich L, Katayama S, Sabbagh M, Vellas B, Watson D, Dhadda S, Irizarry M, Kramer LD, Iwatsubo T. Lecanemab in Early Alzheimer’s Disease. N Engl J Med. 2023 Jan 5;388(1):9-21. doi: 10.1056/NEJMoa2212948. Epub 2022 Nov 29. PMID: 36449413.
  4. RSNA Press Release. AI Identifies Non-smokers at High Risk for Lung Cancer. Available at: https://press.rsna.org/timssnet/media/pressreleases/14_pr_target.cfm?id=2482. Access date 22 Dec 2023.
  5. Lipton RB, Croop R, Stock DA, Madonia J, Forshaw M, Lovegren M, et al. Safety, tolerability, and efficacy of zavegepant 10 mg nasal spray for the acute treatment of migraine in the USA: a phase 3, double-blind, randomised, placebo-controlled multicentre trial. Lancet Neurol. 2023; 22(3):209-17.
  6. Kulkarni AR, Patel AA, Pipal KV, et alMachine-learning algorithm to non-invasively detect diabetes and pre-diabetes from electrocardiogramBMJ Innovations 2023;9:32-42.
  7. Dementia Researcher. Smart socks that track distress in people with dementia. Available at: https://www.dementiaresearcher.nihr.ac.uk/smart-socks-that-track-distress-in-people-with-dementia/. Access date 25 Dec 2023.
  8. Lincoff AM, Bhasin S, Flevaris P, Mitchell LM, Basaria S, Boden WE, Cunningham GR, Granger CB, Khera M, Thompson IM Jr, Wang Q, Wolski K, Davey D, Kalahasti V, Khan N, Miller MG, Snabes MC, Chan A, Dubcenco E, Li X, Yi T, Huang B, Pencina KM, Travison TG, Nissen SE; TRAVERSE Study Investigators. Cardiovascular Safety of Testosterone-Replacement Therapy. N Engl J Med. 2023 Jul 13;389(2):107-117. doi: 10.1056/NEJMoa2215025. Epub 2023 Jun 16. PMID: 37326322.
  9. King B, Zhang X, Harcha WG, Szepietowski JC, Shapiro J, Lynde C, Mesinkovska NA, Zwillich SH, Napatalung L, Wajsbrot D, Fayyad R, Freyman A, Mitra D, Purohit V, Sinclair R, Wolk R. Efficacy and safety of ritlecitinib in adults and adolescents with alopecia areata: a randomised, double-blind, multicentre, phase 2b-3 trial. Lancet. 2023 May 6;401(10387):1518-1529. doi: 10.1016/S0140-6736(23)00222-2. Epub 2023 Apr 14. Erratum in: Lancet. 2023 Jun 10;401(10392):1928. PMID: 37062298.
Share it with
Email
Facebook
LinkedIn
Twitter
WhatsApp

Similar Articles

Data Privacy Notice

This Privacy Notice shall be read in conjunction with the Privacy Policy to the extent this Notice does not mention or specify the particulars that should have been mentioned or specified relating to the Notice in pursuance of the provisions of the Data Protection Laws as applicable.

On having accessed or visited this Platform you the Noticee hereby voluntarily consent to and take notice of the fact that the personal data, by which or in relation whereto you the concerned Noticee is identifiable, shall be retained, stored, used, and may be processed by the Company for the purpose and in the manner, though legal, found suitable to it for commercial and/or some other reasons. The detailed specificity whereof may be found in the Privacy Policy. The consent provided herein may be withdrawn anytime by you, the Noticee, at its own volition by removing your profile or by writing to us at support@docquity.com.

As a Noticee, you shall have the right to grievance redressal, in relation to your consent or our use of your personal data, which you may address by writing to us at dpo@docquity.com. Should you, the Noticee, thereafter remain unsatisfied or dissatisfied with the resolution provided by us, you, the Noticee, may approach the concerned regulatory authority for the redressal of your grievance.

Data Privacy Notice

By using this platform, you consent to our use of your personal data as detailed in our Privacy Policy, and acknowledge that we use cookies to improve your browsing experience